สำนวนสุภาษิตไทย

สำนวนสุภาษิตไทย

๑.ความเป็นมาของสำนวนไทย
       สำนวนไทยนั้นมีมาตั้งแต่กอนสมัยพ่อขุนรามคำแหง เนื่องจากในศิลาจารึกของ พ่อขุนรามนั้น มีสำนวนไทยปรากฏเป็นหลักฐานอยู่เช่น เหย้าเรือนพ้อเชื้อเสื้อดำ หมายถึง ทรัพยสมบติ เป็นต้น
       การที่มีในภาษาเขียนครั้งแรกมีสำนวนไทยปรากฏอยู่นั้น แสดงให้เห็นว่าสำนวนไทยมี มาก่อนภาษาเขียนและมีการใช้ในภาษาพูดอยูก่อนแล้ว หนังสือสุภาษิตพระร่วงก็มีเนื้อหาเป็นสำนวนไทยที่ยังใช้อยู่ในปัจจุบันมากมาย เช่น  เมื่อน้อยให้เรียนวิชา ให้หาสินเมื่อใหญ่ 
       หนังสือกฎมณเฑียรบาลของเก่าก็มีสำนวนไทยปรากฏอยู่ นอกจากนี้ในวรรณคดีไทยต่างๆ ตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมาก็มีสำนวนไทยปรากฏอยมากมาย เช่น  ขุนช้างขุนแผน ลิลิตยวนพ่าย ลิลตพระลอ และราชาธิราชเป็นตน 
       สำนวนเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งของภาษาไทย เพราะเป็นคำพูดที่กลั่นกรองขึ้น เพื่อความสละสลวยของภาษาเป็นถ้อยคำที่คมคายกว่าคำพูดธรรมดา เป็นคำพูดที่รวมใจความยาวๆให้สั้นลง ได้ ก็จะทำให้ผู้ฟังสามารถเข้าใจง่ายๆ




เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน : " เบี้ย " ในสมัยก่อนเป็นพวกหอยชนิดหนึ่งเรียกว่า " เบี้ยจั่น "  ใช้เป็นเงินแลกเปลี่ยนซื้อของได้ แต่มีราคาต่ำแปลตามตัวอักษรนี้ก็ว่าเก็บเบี้ยที่ตกอยู่ตามใต้ถุนร้าน  หรือแผงลอยวางของขายซึ่งตกหล่นอยู่บ้าง เพราะมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนเบี้ยกับของโดยไม่เห็นว่าจะเป็นเบี้ยมีราคาต่ำ สำนวนนี้จึงแปลความหมายว่าถึงจะทำงานเล็กใหญ่ หรือค้าขายอะไรก็ตาม ก็พยายามค่อย ๆ ทำให้มีผลได้แม้เล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ยังดีกว่าปล่อยให้หลุดลอยไปเสีย.


 สำนวน : ขี่ช้างจับตั๊กแตน
ความหมาย : ตั๊กแตนเป็นสัตว์ปีกตัวเล็ก ๆ สีเทาและสีเขียวอ่อน ๆ บินได้ ตั๊กแตนจะใช้วิธีกระโดดหรือดีดตัวไปได้ไกลถึง3-4ฟุต จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ถ้ามีคนไปกวนก็จะกระจัดกระจายไป จับยากต้องใช้สวิงขนาดเล็กผูกกับปลายไม้ยาวไล่ครอบถึงจะจับได้ ถ้าจับด้วยมือเปล่าไม่มีทางจับได้ เพราะมันรวดเร็วและไวมาก ช้างนั้นตัวใหญ่ผิดกับตั๊กแตนซึ่งตัวเล็กกระจิดเดียว และการที่จะขี่ช้างที่เป็นสัตว์ที่มีคุณค่าในทางแรงงานสูงไปจับเจ้าตั๊กแตนที่ตัวเล็กเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเป็นเรื่องที่เกินกว่าเหตุที่จะต้องไปลงทุนขนาดนั้น สำนวนนี้จึงหมายถึงการที่เรานั้นทำเรื่องที่เกินกว่าเหตุและใหญ่โตมากเกินไปกว่าความจำเป็นหรือเกินกว่าเหตุนั่นเอง
โอกาสที่ใช้ : เปรียบเทียบเพื่อชี้ให้เห็นว่า การลงทุนทำอะไรที่ใหญ่โตมีวิธีการมากมาย ลงทุนมหาศาล แต่กลับได้ประโยชน์กลับมาแค่นิดเดียวนั้นมันไม่คุ้มที่จะทำ


 

คนล้มอย่าข้าม ไม้ล้มจึงข้าม  : แปลว่า คนที่เคยมีอำนาจและวาสนามาก่อน แต่ต้องตกต่ำลงก็อย่าเพิ่งไปคิดดูถูกเหยียบย่ำเข้า เพราะเขาอาจกลับฟื้นฟูขึ้นอีกได้ ไม่เหมือนไม้ที่ไม่มีชีวิตวางทิ้งไว้จะข้ามจะเหยียบอย่างไรก็ได้. 

 

จุดไต้ตำตอ  :  สำนวนนี้ หมายถึงการพูดกล่าวขวัญหรือทำอะไรสักอย่าง  โดยผู้พูดหรือผู้ทำไม่รู้จักคนผู้นั้นครั้นพอรู้ความจริง  ผู้พูดหรือผู้ทำกลายเป็นคน  " ห้าแต้ม "  ไปเลย  ถ้าเป็นการพูดกล่าวขวัญในทางร้ายหรือนินทาด่าคนผู้นั้นเข้า  ดีไม่ดีก็ต้องเคราะห์ร้ายเปรียบเหมือนจุดไต้ไปตำเข้ากับตอถึงไฟดับ  สำนวนนี้เข้าใจว่า  มาจากการจุดไต้ให้ไฟสว่างของคนสมัยโบราณ  ซึ่งใช้เป็นไฟฉายส่องทาง  แล้วเอาไต้ไฟไปชนเข้ากับต่อถึงดับ.  

 

ดูช้างให้ดูหาง  ดูนางให้ดูแม่  :  สำนวนทำนองนี้  มีอยู่ด้วยกันหลายประโยค  และมีความหมายไปในทำนองเดียวกัน  เช่น  "  ดูวัวให้ดูหาง  ดูนางให้ดูแม่ "  " ดูข้างให้ดูหน้าหนาว  ดูสาวให้ดูหน้าร้อน "  ดังที่ได้ยินได้ฟังมาบ้างแล้ว  แต่สำนวนที่ว่า  " ดูช้างให้ดูหาง "  นี้  มุ่งให้ดูหางช้าง  ที่บอกลักษณะว่าเป็นช้างดีหรือช้างเผือก  เพราะที่ปลายหางของมันยังเหลือให้เห็นสีขาวอยู่ตามเรื่องที่เล่าว่า  เวลาช้างพังตกลูกเป็นช้างเผือกสีประหลาด  พวกช้างพลายและช้างพังจะช่วยกัน  " ย้อม "  กลายลูกมันเสีย  ด้วยการใช้ใบไม้หรือขี้โคนดำ ๆ  พ่นทับ  เพื่อมิให้คนรู้ว่าเป็นช้างเผือกแล้วมาจับไป  หรืออย่างไรไม่แน่ชัด  แต่การย้อมลูกของมันด้วยสีเผือกให้เป็นสีนิลนั้น  ก็ยังเหลือร่องรอยอยู่อย่างหนึ่ง  คือที่ปลายหางเป็นสีขาว  เหตุนี้เขาจึงให้สังเกตลักษณะของช้างเผือกที่ตรงหางไว้เป็นหลักสำคัญ.

 

ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ  :  สำนวนนี้  โบราณมักใช้พูดกันมาก  หมายถึงการกระทำอะไรสักอย่างที่ไม่เหมาะสมหรือได้สมดุลกัน  หรือใช้จ่ายทรัพย์ลงทุนไปในทางที่ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย  เช่นลงทุนเล็กน้อยเพื่อทำงานใหญ่ซึ่งต้องใช้เงินมาก ๆ ย่อมไม่อาจสำเร็จได้ง่าย  ต้องสูญทุนไปเปล่า ๆ เปรียบเหมือนตำน้ำพริกเพียงครกเดียว  เอาไปละลายในแม่น้ำกว้างใหญ่  เมื่อละลายไปก็จะสูญหายไปหมดสิ้นไปทำให้แม่น้ำเกิดอะไรผิดปกติขึ้น  เสียน้ำพริกไปเปล่า ๆ.
 
  
ทำนาบนหลังคน  : หมายถึงคนที่คิดหาผลกำไรหรือหาผลประโยชน์ใส่ตน  ด้วยวิธีเบียดเบียนหรือรีดนาทาเร้นเอาจากน้ำพักน้ำแรงของผู้อื่น  โดยขาดความเมตตา  เช่น  ให้กู้เงินแล้วเรียกดอกเบี้ยแพง ๆ หรือกว้านซื้อข้าวจากชาวนาในราคาถูก ๆ  เพื่อเอามาค้าหากำไรโดยเหตุที่การทำนาของคนไทยในสมัยโบราณจัดว่า  เป็นอาชีพหลักและสำคัญส่วนใหญ่โบราณจึงเอาเรื่อง  " ทำนา "  มาผูกเป็นสำนวนความหมายทำนองเดียวกับ  " รีดเลือดกับปู "  ก็ได้.

 

น้ำขึ้นให้รีบตัก  :  เป็นสำนวนสุภาษิตที่หมายถึงว่า  เมื่อมีโอกาสหรือได้จังหวะ  ในการทำมาหากินหรือช่องทางที่จะทำให้ได้ผลประโยชน์แก่ตนแล้ว  ก็ควรจะรีบคว้าหรือรีบฉวยโอกาสอันดีนี้เสีย  อย่าปล่อยโอกาสหรือจังหวะเวลาให้ผ่านพ้นไปอย่างน่าเสียดาย  สำนวนนี้เอาไปเปรียบกับอีกสำนวนที่ว่า  " ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม "  แล้ว  หากคุณไม่เข้าใจความหมายก็อาจจะทำให้พะวักพะวงใจอยู่บ้าง  เพราะไม่รู้ว่าจะเชื่อสำนวนไหนดี  อย่างไรก็ควรดูคำแปลความหมายของอีกสำนวนนั้นเสียก่อน. 

 

พุ่งหอกเข้ารก  :  สำนวนนี้  หมายถึงทำอะไรที่สักแต่ว่าทำลงไปให้แล้วเสร็จ  โดยไม่คิดคำนึงถึงผลเสียหรือผลที่จะได้รับเป็นอย่างไร  เปรียบได้กับการพุ่งหอกเข้าไปในที่รก  โดยไม่รู้ว่า  หอกนั้นจะไปตกต้องโดนอะไรเข้าไปเป็นผลเสียหายบ้าง  เพราะในที่รกย่อมมองไม่เห็นว่ามีอะไร.

 

มะกอกสามตะกร้าปาไม่ถูก  :  สำนวนนี้หมายถึงคนที่พูดเก่ง  หรือตลบแตลงเก่ง  พูดกลับกลอกได้รอบตัว  หรือพูดจนจับคำไม่ทัน  เป็นที่ไม่น่าเชื่อถือและไว้ใจ  เปรียบเหมือนกับว่าเป็นคนหลบหลีกได้คล่อง  ถึงจะเอามะกอกใส่เต็มตะกร้า ๓ - ๔ ตะกร้ามาขว้างปาก็ไม่ถูก  ทำนองเดียวกับที่ว่า  " จับไม่ได้ไล่ไม่ทัน "

 

กวัวให้ผูกรักลูกให้ตี  :  ถ้ารักวัวก็ให้ผูกล่ามขังไว้  มิฉะนั้นวัวจะถูกลักพาหรือหนีหายไปส่วนรักลูกให้เฆี่ยน  ก็หมายถึงให้อบรมสั่งสอนลูกและทำโทษลูกเมื่อผิด.

๒.ความหมายของสำนวน
     สำนวน หมายถึง ถ้อยคำที่กระทัดรัด คมคายกินใจผู้ฟัง ไพเราะสละสลวยและมีความหมายลึกซึ้งเป็นที่รู้จักกันทั่วไป สำนวนในที่นี้รวมถึง สุภาษิต ภาษิต และคำพังเพยด้วย
     สำนวน เป็นการใช้ภาษากล่าวถึงเรื่องราว เหตุการณ์ต่าง ๆ อย่างกระทัดรัด ได้ความหมาย ซึ่งสรุปครอบคลุมเหตุการณ์ อาจใช้ถ้อยคำคล้องจอง เพื่อให้จำง่าย และใช้กันอย่างแพร่หลาย
๓.คุณค่าของสำนวน
     ๑.ใช้สื่อสารได้รวดเร็ว กะทัดรัดและประหยัดเวลา เมื่อใช้แล้วเข้าใจความหมายได้ทันที ไม่ต้องอธิบายความให้ยืดยาว
     ๒.ช่วยเน้นความเข้าใจให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
     .โน้มน้าวใจให้ปฏิบัติหรือมีค่านิยมตามที่สังคมปรารถนา
     .สะท้อนให้เห็นค่านิยม สภาพของสังคมไทยในแง่มุมต่าง ๆ
     .มีประโยชน์ด้านการใช้ภาษา เช่น การผูกถ้อยคำ การเรียงประโยค

๔.การพิจารณาสำนวน
     .จำนวนคำ
          สำนวนอาจมีจำนวนคำตั้งแต่ ๒ คำขึ้นไป บางสำนวนมีถึง ๑๒ คำ(คำในที่นี้หมายถึงพยางค์)
                สำนวนที่มี ๒ คำ เช่น แผลเก่า  นกต่อ  ตัดเชือก  แกะดำ
                สำนวนที่มี ๓ คำ เช่น นกสองหัว  งอมพระราม  เฒ่าหัวงู
                สำนวนที่มี ๔ คำ เช่น  ตบหัวลูบหลัง  เคียงบ่าเคียงไหล่ เข้าด้ายเข้าเข็ม  อ้อยเข้าปากช้าง 
                สำนวนที่มี ๕ คำ เช่น น้ำขึ้นให้รีบตัก  หนูตกถังข้าวสาร ทำคุณบูชาโทษ  ได้ทีขี่แพะไล่
    สำนวนที่มี ๖ คำ เช่น หนีเสือปะจระเข้  กระดูกสันหลังของชาติ อัฐยายซื้อขนมยาย  ปลากระดี่ได้น้ำ
    สำนวนที่มี ๗ คำ เช่น งมเข็มในมหาสมุทร  ข่มเขาโคขืนให้กินหญ้า  กินบนเรือนขี้บนหลังคา
    สำนวนที่มี ๘ คำ เช่น ชี้นกเป็นนกชี้ไม้เป็นไม้  เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม  มะกอกสามตะกร้าปาไม่ถูก
    สำนวนที่มี ๙ คำ เช่น หมูเขาจะหามเอาคานเข้ามาสอด เสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้
    สำนวนที่มี ๑๐ คำ เช่น คบคนให้ดูหน้า ซื้อผ้าให้ดูเนื้อ  น้ำมาปลากินมด น้ำลดมดกินปลา
    สำนวนที่มี ๑๒ คำ เช่น ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่ผูกอู่ตามใจผู้นอน

     .เสียงสัมผัส
            สำนวนบางสำนวนมีเสียงสัมผัสกัน เช่น
                        คอขาดบาดตาย                      ทรัพย์ในดินสินในน้ำ
                        จองหองพองขน                       น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า
                        ศึกเหนือเสือใต้                                    หมอบราบคาบแก้ว
            สำนวนบางสำนวนไม่มีเสียงสัมผัส เช่น
                        คมในฝัก                                  น้ำขึ้นให้รีบตัก
                        แพะรับบาป                             น้ำท่วมปาก
                        เกลือเป็นหนอน                       ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

     ๓.สำนวนที่มีลักษณะเป็นกลุ่มคำหรือประโยค
            สำนวนบางสำนวนมีลักษณะเป็นกลุ่มคำ เช่น
                        ขมิ้นกับปูน                              ร่มโพธิ์ร่มไทร
                        หมูในอวย                                กระดูกสันหลังของชาติ
            สำนวนบางสำนวนมีลักษณะเป็นประโยค เช่น
                        กาคาบพริก                             น้ำลดตอผุด
                        ดินพอกหางหมู                        งูกินหาง

     .การใช้สำนวน
           หลักการใช้สำนวน คือใช้ให้ตรงกับความหมาย  เช่น
       หนุ่มสาวคู่นี้เหมาะสมกันราวกิ่งทองใบหยก
       - เธอนี่ทำตื่นตกอกตกใจเป็นกระต่ายตื่นตูมไปได้
       - รักกันชอบกันก็ต้องเข้าตามตรอกออกตามประตู
       - คุณตอบอย่างนั้นเขาเรียกว่าตอบอย่างกำปั้นทุบดิน
       - พ่อแม่หวังจะฝากผีฝากไข้กับลูก

     .ตัวอย่างสำนวน
๑. สำนวนเกี่ยวกับพืช
       กลมเป็นลูกมะนาว     - หลบหลีกได้คล่อง
       ขิงก็ราข่าก็แรง           - ต่างไม่ยอมลดละกัน
       ตาเป็นสับปะรด          - มีพวกคอยสอดส่องเหตุการณ์ให้
       แตงเถาตาย               - หญิงม่ายที่มีอายุมาก
๒. สำนวนที่เกี่ยวกับสัตว์
       กระต่ายขาเดียว         - ยืนกรานไม่ยอมรับ
       กินน้ำเห็นปลิง           - รู้สึกตะขิดตะขวงใจ
       จมูกมด                     - รู้ทันเหตุการณ์
       กิ้งก่าได้ทอง             - คนที่ได้ดีแล้วลืมตัว
๓. สำนวนที่เกี่ยวกับการกระทำ
       แกว่งเท้าหาเสี้ยน      - หาเรื่องเดือดร้อนใส่ตัว
       ชายหาบหญิงคอน    - ช่วยกันทำมาหากิน
       ขนทรายเข้าวัด         - ทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม
       บุกป่าฝ่าดง               - ต่อสู้อุปสรรคต่าง ๆ
๔. สำนวนที่มาจากนิทานหรือวรรณคดี
       กระต่ายตื่นตูม                 - ตื่นตกใจโดยไม่สำรวจให้ถ่องแท้
       ดอกพิกุลร่วง                   - อาการนิ่งไม่พูด
       เห็นกงจักรเป็นดอกบัว     - เห็นผิดเป็นชอบ
       ทรพี                                - คนอกตัญญู
๕. เกิดจากอวัยวะต่างๆ
       ใจลอย                            - ตาเล็กตาน้อย
       ตีนเท่าฝาหอย                - ปากรรมยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม
       มืออยู่ไม่สุข                    - หัวรักหัวใคร่
๖. เกิดจากของกินของใช้  เช่น
      ข้าวแดงแกงร้อน             - ไข่ในหิน
      ฆ้องปากแตก                   - ผ้าขี้ริ้วห่อทอง
      ลงเรือลำเดียวกัน            - บ้านเคยอยู่  อู่เคยนอน
๗. เกิดจากแบบแผนประเพณีและวัฒนธรรม   เช่น
      ช้างเท้าหลัง                                 - ตื่นก่อนนอนหลัง
      เข้าตามตรอกออกตามประตู        - เป็นทองแผ่นเดียวกัน
      ฝังรกฝังราก                                 - คนตายขายคนเป็น
๘. เกิดจากศาสนา   เช่น
      กรวดน้ำคว่ำขัน              - ขนทรายเข้าวัด
      ตักบาตรถามพระ            - บุญทำกรรมแต่ง
      เทศน์ไปตามเนื้อผ้า       - ผ้าเหลืองร้อน
๙. เกิดจากการละเล่น   กีฬาหรือการแข่งขัน  เช่น
      ไก่รองบ่อน                    - งงเป็นไก่ตาแตก
      รุกฆาต                           - ไม่ดูตาม้าตาเรือ
      ลูกไก่                             - ว่าวขาดลมลอย

๕.ลักษณะสำนวนไทย
     ข้อความที่เป็นสำนวนไทยมีลักษณะดังนี้  คือ

๑. มีความหมายโดยนัย คือความหมายม่ตรงตัวตามความหมายโดยอรรถ พูดอย่างหนึ่งมีความหมายอีกอย่างหนึ่ง เช่น
      กินปูนร้อนท้อง          - รู้สึกเดือดร้อนเพราะมีความผิดอยู่
      ขนทรายเข้าวัด          - ร่วมมือร่วมใจกันทำบุญ
      ฤษีเลี้ยงลิง                - เลี้ยงเด็กซุกซน

๒. ใช้ถ้อยคำกินความมาก การใช้ถ้อยคำในสำนวนส่วนใหญ่เข้าลักษณะใช้คำน้อยกินความมาก เนื้อความมีความหมายเด่น เช่น ก่อหวอด ขึ้นคาน คว่ำบาตร ขมิ้นกับปูน คมในฝัก กิ้งก่าได้ทอง ใกล้เกลือกินด่าง เด็ดบัวไว้ใย ซึ่งล้วนมีความหมายอธิบายได้ยืดยาว ส่วนที่ใช้ถ้อยคำหลายคำ แต่ละคำก็ล้วนมีความหมายและช่วยให้ได้ความกระจ่างชัดเจน  

๓. ถ้อยคำมีความไพเราะ การใช้ถ้อยคำในสำนวนไทยมักใช้ถ้อยคำสละสลวยมีสัมผัสคล้องจอง เน้นการเล่นเสียงสัมผัสสระ สัมผัสอักษร ให้เสียงกระทบกระทั่งกัน เกิดความไพระน่าฟังทั้ง สัมผัสภายในวรรคและระหว่างวรรค มีการจัดจังหวะคำหลายรูปแบบ เช่น เป็นกลุ่มคำซ้อน ๔ คำ อย่าง ก่อกรรมทำเข็ญ  ก่อร่างสร้างตัว คู่ผัวตัวเมีย คู่เรียงเคียงหมอน คำซ้อน ๖ คำ เช่น ขิงก็ราข่าก็แรง ขี้ก้อนใหญ่ให้เด็กเห็น  ยุให้รำตำให้รั่ว ลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง คำซ้อน ๘ คำ หรือมากกว่าบ้าง เช่น ไก่งามเพราะขนคนงามเพราะแต่ง กินอยู่กับปากอยากอยู่กับท้อง กำแพงมีหูประตูมีตา เป็นต้น
ลักษณะสัมผัสคล้องจองเป็นร้อยกรองง่ายๆหลายรูปแบบ มีทั้งคล้องจองกันในข้อความตอนเดียว เช่น ตื่นก่อนนอนหลัง ต้อนรับขับสู้ ผูกรักสมัครใคร่ โอภาปราศรัย และคล้องจองในข้อความที่เป็น ๒ ตอนซึ่งมีอยู่จำนวนมากและในข้อความมากกว่า ๒ ตอน เช่น น้ำมาปลากินมด น้ำลดมดกินปลา เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ อย่าไว่ใจทาง อย่าวางใจคน จะจนใจเอง เป็นต้น

๔. สำนวนไทยมักมีการเปรียบเปรย หรือมีประวัติที่มา ส่วนใหญ่มาจากการเปรียบเทียบกับปรากฏการณ์ธรรมชาติ ประเพณี ศาสนา นิยาย นิทานต่างๆ กิริยาอาการและส่วนต่างๆของร่างกาย ตัวอย่างเช่น   กลับหน้ามือเป็นหลังมือ นอนตาไม่หลับ ใจดีสู้เสือ กินไข่ขวัญ ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง เป็นต้น

๖.ประโยชน์ในการศึกษาสำนวนโวหาร

๑. ทำให้ใช้ภาษาในการเขียนความเรียงต่างๆได้ดีขึ้น เป็นการช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับความเรียงที่เขียนขึ้น
๒. ทำให้ได้คติสอนใจในด้านต่างๆ เช่น
     - ด้านการเรียน ตัวอย่าง รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม,ฝนทั่งให้เป็นเข็ม,ความรู้ท่วม หัวเอาตัวไม่รอด
     - ด้านการคบค้าสมาคม ตัวอย่าง คบคนให้ดูหน้า ซื้อผ้าให้ดูเนื้อ,คบเด็กสร้างบ้าน คบหัวล้านสร้างเมือง
     - ด้านการครองเรือน ตัวอย่าง ความในอย่านำออก ความนอกอย่านำเข้า,ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่  ปลูกอู่ตามใจผู้นอน
     - ด้านความรัก ตัวอย่าง ยามรักน้ำต้มผักก็ว่าหวาน,รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ,รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี
๓. ทำให้ทราบความเป็นอยู่ของคนในสังคม ในสมัยที่เกิดสำนวนโวหารนั้นว่ามีความเป็นอยู่อย่างไร เช่นอัฐยายซื้อขนมยาย,แบ่งสันปันส่วน,หมูไปไก่มา
๔. เป็นการรักษาวัฒนธรรมทางภาษาอันเป็นมรดกที่ล้ำค่าของไทยไว้ให้ลูกหลานภาคภูมิใจ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น